เช็ครายได้ให้ชัวร์ก่อนยื่นภาษีง่ายๆ แค่ 3 ขั้นตอน
ใครต้องยื่นภาษี?
ขั้นตอนที่ 1 หารายได้สุทธิ นำรายได้ทั้งปีมาหักค่าใช้จ่าย โดยแยกตามประเภทของรายได้ และหักลดหย่อนตามรายการต่าง ๆ
ตัวอย่าง : นายสยาม มีรายได้จากเงินเดือน รวม 800,000 บาท ต่อปี จะต้องหักค่าใช้จ่ายเบื้องต้น (ตามกฎหมายกำหนดให้ หักค่าใช้จ่าย 50% ของเงินได้ แต่ต้องไม่เกิน 100,000 บาท)
ดังนั้น หักค่าใช้จ่ายไป 100,000 บาท
เหลือรายได้สุทธิเป็น 800,000 – 100,000 = 700,000 บาท
ขั้นตอนที่ 2 นำรายได้ที่เหลือจาก ขั้นตอน ที่ 1 มาหักค่าลดหย่อน ลองสำรวจดูว่าเรามีค่าลดหย่อนอะไรบ้าง แล้วนำค่าลดหย่อนนั้นมาลบออกจากรายได้สุทธิ 700,000 บาท ที่ได้จากขั้นตอนที่ 1
รายการลดหย่อนภาษีของนายสยาม ปี 62
– ค่าลดหย่อนส่วนตัว 60,000 บาท
– ค่าประกันสังคม 9,000 บาท
– ค่าเลี้ยงดูบิดามารดา 2 คน คนละ 30,000 บาท รวม 60,000 บาท
– ซื้อกองทุน LTF 50,000 บาท
– ซื้อกองทุน RMF 50,000 บาท
รวมลดหย่อนภาษีไป 229,000 บาท
ดังนั้น เหลือรายได้สุทธิเท่ากับ 700,000 – 229,000 = 471,000 บาท
ขั้นตอนที่ 3 นำรายได้สุทธิที่ได้ มาเทียบอัตราภาษี
(อ้างอิงโครงสร้างภาษีเหมือนที่ปรับใหม่ในปี 2560)
อัตราภาษีแบบขั้นบันได
– รายได้ 0-150,000 บาท ยกเว้นอัตราภาษี
– รายได้ 150,001-300,000 บาท อัตราภาษี 5% (เสียภาษีสูงสุดในขั้นนี้คือ 7,500 บาท)
– รายได้ 300,001-500,000 บาท อัตราภาษี 10% (เสียภาษีสูงสุดในขั้นนี้คือ 20,000 บาท)
– รายได้ 500,001-750,000 บาท อัตราภาษี 15% (เสียภาษีสูงสุดในขั้นนี้คือ 37,500 บาท)
– รายได้ 750,001-1,000,000 บาท อัตราภาษี 20% (เสียภาษีสูงสุดในขั้นนี้คือ 50,000 บาท)
– รายได้ 1,000,001-2,000,000 บาท อัตราภาษี 25% (เสียภาษีสูงสุดในขั้นนี้คือ 250,000 บาท)
– รายได้ 2,000,001-5,000,000 บาท อัตราภาษี 30% (เสียภาษีสูงสุดในขั้นนี้คือ 600,000 บาท)
– รายได้ 5,000,000 บาทขึ้นไป อัตราภาษี 35%
กรณีของนาย สยาม มีรายได้สุทธิอยู่ที่ 471,000 บาท เท่ากับต้องเสียภาษีในอัตราสูงสุดที่ 10%
ซึ่งคำนวณอัตราภาษีแต่ละขั้นได้ดังนี้
วิธีการคำนวณ
ขั้นที่ 1 รายได้ 0 – 150,000 บาทแรก
ได้รับการยกเว้น ไม่ต้องเสียภาษี จึงเหลือเงินที่ต้องไปคำนวณคือ รายได้สุทธิ – อัตราภาษีขั้นที่ 1 (ซึ่งได้รับการยกเว้นภาษี) 471,000 – 150,000 = 321,000 บาท
ขั้นที่ 2 ส่วนต่อมา เสียภาษี 5%
ซึ่งจำนวนเงินภาษีของฐาน 5% คือ 7,500 บาท จึงเหลือเงินที่ต้องไปคำนวณคือ 321,000 – 150,000 = 171,000 บาท
ขั้นที่ 3 รายได้สุทธิของนายสยาม อยู่ในขั้นเสียภาษี 10% จึงเหลือเงินที่ต้องไปคำนวณคือ 171,000 *10% = 17,100 บาท
ขั้นที่ 4 นำเงินภาษีแต่ละขั้นมารวมกัน 7,500+ 17,100 = 24,600 บาท
สรุปนายสยามต้องเสียภาษีทั้งสิ้น 24,600 บาท

ใส่ความเห็น